ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 11 ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น | |||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560 สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2557 ปัญหาเกี่ยวกับการตีความการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร และตามมาตรา 11 กรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่ได้ระบุให้รวมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลยไว้ชัดแจ้งในสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้ ดังนั้น คำว่า "หนี้และภาระผูกพันทุกลักษณะและทุกประเภท" ตามสัญญาจำนองจึงหมายถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยโดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมของบุคคลอื่นที่ทำกับจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2557 จำเลยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฉบับเดียวกันไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของโจทก์ มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ครั้งที่สองส่งไปยังสถานประกอบการของนายจ้างตามที่โจทก์แจ้งไว้ในคำอุทธรณ์ว่าเป็นสถานที่ติดต่อได้สะดวก มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 การนับเวลานำคดีไปสู่ศาลต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงให้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยพอแปลได้ว่า เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั่นเอง โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งอยู่ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (ครั้งที่สอง) ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพนิติบุคคลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2554 แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำ แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคาร ม. หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคาร ม. อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคาร ม. จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคาร ม. และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีความชัดเจนโดยธนาคาร ม. มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณี และจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ม. ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15221/2551 เมื่อไม่มีการแก้ไขสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ให้มีความชัดเจนในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 5 ว่าจะต้องรับผิดในจำนวนเท่าใดทั้ง ๆ ที่มีช่องว่างให้เติมตัวเลขหรือข้อความแล้ว ย่อมเป็นกรณีที่มีข้อสงสัย จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 6 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 4 รับผิดในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท แล้วก็จะต้องฟังว่า โจทก์มีเจตนายอมให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่จำกัดวงเงินตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด
|